ความหมายของการจัดการชั้นเรียน
โดยส่วนใหญ่แล้วจะเข้าใจกันว่า การจัดการชั้นเรียน คือ การจัดสภาพของห้องเรียนทางด้านกายภาพหรือการตกแต่งห้องเรียนด้วยวัสดุตกแต่งเพื่อเป็นการจูงใจนักเรียนให้มีความสนใจและตั้งใจเรียน นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการชั้นเรียนเท่านั้น หากแต่ต้องมีการสร้างสรรค์และเอาใจใส่สภาพบรรยากาศภายในห้องเรียนด้วยเช่นกัน ครูจึงเป็นบุคคลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในการรับหน้าที่เป็นผู้สร้างและส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอน กระตุ้นความใฝ่รู้และใส่ใจในการศึกษาของผู้เรียน สร้างความมีระเบียบวินัยให้กับผู้เรียน อีกทั้งต้องคงสภาพสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เพื่อช่วยให้การสอนในชั้นเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลแก่ผู้เรียนอย่างยั่งยืน
การจัดการชั้นเรียนจึงมีความหมายกว้าง นับตั้งแต่การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพในห้องเรียน การจัดกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักเรียน การสร้างวินัยในชั้นเรียนตลอดจนการจัด
กิจกรรมการเรียนการสอนของครู และการพัฒนาทักษะการสอนของครูให้สามารถกระตุ้นพร้อมทั้ง
สร้างแรงจูงใจในการเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สุภาวรรณ : 2552)
นอกจากนี้แล้วยังมีนักการศึกษาหลายท่านได้กำหนดความหมายของการจัดการชั้นเรียนไปในแนวทางเดียวกัน ดังนี้
สุรางค์ โค้วตระกูล (สุภวรรณ : 2551) ได้อธิบายความหมายของการจัดการห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพว่า หมายถึงการสร้างและการรักษาสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน หรือหมายถึงกิจกรรมทุกอย่างที่ครูทำเพื่อจะช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพและนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ซูซาน (สุภวรรณ : 2551) ได้ให้ความหมายของการจัดการชั้นเรียนไว้ว่า เป็นพฤติกรรมการสอนที่ครูสร้างและคงสภาพเงื่อนไขของการเรียนรู้เพื่อช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลขึ้นในชั้นเรียนซึ่งถือเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ การจัดการชั้นเรียนที่มีคุณภาพนั้นต้องเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและคงสภาพเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โดยสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ การให้ผลย้อนกลับและการจัดการเกี่ยวกับการทำงานของนักเรียน ความพยายามของครูที่มีประสิทธิภาพนั้นหมายรวมถึง การที่ครูเป็นผู้ดำเนินการเชิงรุก (proactive) มีความรับผิดชอบ(responsive) และเป็นผู้สนับสนุน (supportive)
การบริหารการศึกษา
ความหมายของการบริหารการศึกษา ( Educational Administration )
ความหมายของ “การบริหารการศึกษา ( Educational Administration )” โดยดูจากคำว่า “การบริหารการศึกษา” ซึ่งประกอบด้วยคำสำคัญ 2 คำ คือคำว่า “การบริหาร ( Administration )” และ “การศึกษา ( Education )” ดังนั้นจะขอแยกความหมายของคำทั้งสองนี้ก่อน
ความหมายของคำว่า “การบริหาร” มีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลาย ทั้งคล้ายๆกันและแตกต่างกัน ขอยกตัวอย่างสัก 6 ความหมาย ดังนี้
การบริหาร คือ ศิลปะของการทำงานให้สำเร็จโดยใช้บุคคลอื่น
การบริหาร คือ การทำงานของคณะบุคคล ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่ร่วมกันปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
การบริหาร คือ การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันทำงาน เพื่อจุดประสงค์อย่างเดียวกัน
การบริหาร คือ กิจกรรมที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันดำเนินการ ให้บรรลุจุดประสงค์ร่วมกัน
การบริหาร คือ การใช้ศาสตร์และศิลปะนำทรัพยากรการบริหาร (Administrative resource) มาประกอบการตามกระบวนการบริหาร ( Process of administration ) ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบริหาร คือศิลปะในการทำให้สิ่งต่างๆได้รับการกระทำจนเป็นผลสำเร็จ หมายความว่าผู้บริหารไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ แต่ใช้ศิลปะทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานจนเป็นผลสำเร็จตรงตามจุดหมายขององค์การ หรือตรงตามจุดหมายที่ผู้บริหารตัดสินใจเลือกแล้ว
จากความหมายของ”การบริหาร”ทั้ง 6 ความหมายนี้ พอสรุปได้ว่า การดำเนินงานของกลุ่มบุคคลเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่วางไว้
ส่วนความหมายของ “การศึกษา” ก็มีผู้ให้ความหมายไว้คล้ายๆกัน ดังนี้
การศึกษา คือ การงอกงาม หรือ การจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมแก่ผู้เรียน เพื่อผู้เรียนจะได้งอกงามขึ้นตามจุดประสงค์
การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
การศึกษา คือ การสร้างเสริมประสบการณ์ให้ชีวิต
การศึกษา คือ เครื่องมือที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามทุกทางในตัวบุคคล
จากความหมายของ ”การศึกษา” ข้างบนนี้พอสรุปได้ว่า การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ทั้งความรู้ ความคิด ความสามารถ และความเป็นคนดี
เมื่อนำความหมายของ “การบริหาร” มารวมกับความหมายของ “การศึกษา” ก็จะได้ ความหมายของ “การบริหารการศึกษา” ว่า “การดำเนินงานของกลุ่มบุคคล เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ทั้งความรู้ ความคิด ความสามารถ และความเป็นคนดี” นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น